วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม


ปฏิรูป (reconstruct) หมายถึง บูรณะหรือทำขึ้นใหม่ ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1930 ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประสบปัญหาหลาย ๆ ด้าน เช่น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างระบบนายทุนจึงเกิดนักคิดกลุ่มหนึ่งที่ได้พยายามจะแก้ปัญหาสังคมโดยให้การศึกษาเป็นตัวนำการปฏิรูปเศรษฐกิจการเมือง และสังคมโดยการล้มระบบเก่าที่ไม่มั่นคงและยุติธรรมลงเสีย แล้วสร้างระบบสังคมใหม่ขึ้นมา นักคิดกลุ่มนี้ที่เสนอบทบาทใหม่ให้กับโรงเรียนให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมนี้มีชื่อเรียกว่า “นักคิดแนวหน้า” ผู้นำของนักคิดกลุ่มนี้ ได้แก่ จอร์จ เอส เค้าทส์ และ ฮาโรลด์ รักก์ กลุ่มนี้มีความเห็นด้วยกับหลักการประชาธิปไตยโดยที่ประชาชนต้องสามารถควบคุมสถาบันและทรัพยากรต่างๆได้เอง โดยไม่ขึ้นอยู่กับนักการเมืองที่หวังเอาประชาชนเป็นเครื่องมือ และประชาธิปไตยดังกล่าวนี้ควรต้องประสานความสอดคล้องกับประชาธิปไตยในแต่ละประเทศทั่วโลก
ผู้นำของปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยมตอนแรก คือ จอห์น ดิวอี้ (ค.ศ. 1920) แต่แนวคิดเกี่ยวกับ “การศึกษาเพื่อปฏิรูปสังคม” นี้ยังไม่เด่นชัดจนกระทั่งประมาณปี ค.ศ. 1950 ที โอดอร์ บราเมลด์ ได้เป็นผู้ทำให้ปรัชญาศึกษาปฏิรูปนิยมเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางโดยการเสนอปรัชญาการศึกษาเพื่อการปฏิรูปสังคมในหนังสือหลายเล่มด้วยกัน เช่น “Pattern of Education Philosophy 1950” “Toward a Reconstructed Philosophy of Education 1956” และเรื่อง Educations Power 1965”(Kneller, 1971, หน้า 62) เป็นต้น ทำให้บราเมลด์ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม (สุรินทร์ รักชาติ, 2529, หน้า 58)
แนวคิดพื้นฐาน
ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยมนี้พัฒนามาจากปรัชญาปฏิบัตินิยม (pragmatism) และผนวกเอาความคิดของปรัชญาพิพัฒนาการนิยม (progressivism) เข้าไว้ด้วยกัน (ทองปลิว ชมชื่น, 2529, หน้า 162-163 ) ปรัชญาปฏิรูปนิยมเน้นเรื่อง “แรงงาน” (labor) ว่าเป็นหัวใจของสังคม และเชื่อว่ามนุษย์จะต้องช่วยกันสร้างระบบสังคมเสียใหม่โดยถือว่า “การทำงานคือชีวิต” ดังนั้น รูปแบบของการศึกษาในลัทธิปรัชญานี้จึงเน้นการทำงานหรือการทำแบบฝึกหัดในบทเรียนต่างๆ อย่างมากที่สุด (ภิญโญ สาธร, 2525, หน้า 117) ปฏิบัติการนิยมเน้นในการแก้ไขปรับปรุงสภาพสังคม โดยอาศัยการศึกษาเป็นเครื่องมือ พิพัฒนาการนิยมเน้นการพัฒนาเด็กไปสู่จุดมุ่งหมายที่ผู้เรียน และผู้สอนร่วมกันกำหนดขึ้น การผสมผสานกันระหว่างความคิดสองปรัชญาทำให้ปรัชญาปฏิรูปนิยมก่อตัวขึ้นโดยเน้นการพัฒนาการของบุคคลและของมวลชนเพื่อเข้าใจตนเองว่ามีความต้องการอะไร สังคมประกอบไปด้วยสมาชิกที่มีความสามารถและจุดมุ่งหมายของสมาชิกไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหมด (ทองปลิว ชมชื่น, 2529, หน้า163 ) ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยมเน้นการปฏิรูปสังคมและสร้างสรรค์รูปแบบของสังคมขึ้นมาใหม่ในอนาคต
หลักการสำคัญ
ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยมมีหลักการสำคัญ (George F. Kneller, 1971, หน้า 62-64 อ้างใน สุรินทร์ รักชาติ, 2529, หน้า 59-60) สรุปได้ดังนี้
1. การศึกษาต้องเป็นการสร้างระเบียบของสังคมขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ค่านิยมเบื้องต้นทางวัฒนธรรมได้บรรลุความสำเร็จตามที่ต้องการ และขณะเดียวกันก็ต้องให้กลมกลืนกับสภาวะของสังคมและเศรษฐกิจ
2. สังคมใหม่ต้องเป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยประชาชนหรือผู้แทน ที่ประชาชนเลือกมาจะต้องมีส่วนรับผิดชอบในการควบคุมผลประโยชน์ของสถาบันและทรัพยากรต่าง ๆ ของประเทศ
3. การศึกษานั้นนอกจากจะทำให้บุคคลได้พัฒนาสังคมแล้วยังทำให้บุคคลได้เรียนรู้ที่จะเข้าร่วมในการวางแผนของสังคมด้วย ดังนั้นสังคมจึงมีส่วนร่วมที่สำคัญของการศึกษา
4. ครูผู้สอนต้องเปิดโอกาสให้เด็ก ได้แสดงความคิดเห็นในการแก้ปัญหา โดยครูจะต้องเชื่อและไว้วางใจเด็กในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ตามกระบวนการของประชาธิปไตยและเป็นที่ยอมรับของสังคมด้วย
5. วิธีการและจุดมุ่งหมายปลายทางของการศึกษา ต้องสนองความต้องการของวัฒนธรรมปัจจุบันเป็นสำคัญ ดังนั้น จึงต้องปฏิบัติเนื้อหาวิชา วิธีการสอน ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารใหม่ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์

ความเชื่อทางการศึกษา
จุดมุ่งหมายการศึกษาของปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยมเป็นหลักสูตรที่ส่งเสริมให้โรงเรียนมีบทบาทในการปฏิรูปสังคมเพื่อใช้การศึกษาเป็นปัจจัยในการสร้างสังคมใหม่ที่มีความเสมอภาค และความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น (วิจิตร ศรีสอ้าน, 2525, หน้า 64) ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้ไพฑูรย์ ลินลารัตน์ (2529, หน้า 89) ได้แบ่งเป็นข้อ ๆ ไว้ดังนี้
1. การศึกษาต้องเป็นไปเพื่อส่งเสริมพัฒนาสังคมโดยตรง และต้องช่วยแก้ปัญหาของสังคมที่เป็นอยู่ด้วย
2. การศึกษาจะต้องมุ่งสร้างระเบียบใหม่ของสังคมบนรากฐานของประชาธิปไตยโดยต้องคำนึงถึงพื้นฐานที่มีอยู่เดิม
3. การศึกษาจะต้องให้เด็กเห็นความสำคัญของสังคมโดยส่วนรวม ควบคู่ไปกับของตนเอง

องค์ประกอบของการศึกษา
1. หลักสูตร หลักสูตรของปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยมเป็นหลักสูตรที่เน้นด้านสังคมเป็นแกนสำคัญ เพื่อส่งเสริมให้เด็กเข้าใจสภาพของสังคม และศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาของสังคมเป็นการเตรียมเด็กให้มีความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างมีคุณภาพ ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยมยึดหลักสูตรแบบแกน (Core Curriculum or Wheel Curriculum) คือ การสอนเน้นหลักสูตรที่ยึดถือวิชาใดวิชาหนึ่งหรือกลุ่มวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นแกนกลาง เนื้อหาสาระในหลักสูตรมาจากปัญหาสังคมที่ผู้เรียนประสบอยู่ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีความพร้อมในการคิดหาแนวทางในการแก้ปัญหา และนำผลที่ได้มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ หลักสูตรต้องกำหนดให้เด็กได้ศึกษาอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เด็กมองเห็นปัญหาสังคมอย่างเข้าใจแจ่มชัด และร่วมมือกันหาข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้ เด็กจึงควรได้รับการศึกษาในเรื่องของอุตสาหกรรม สื่อสารมวลชน การขนส่ง การอนามัยและสาธารณสุข นิเวศวิทยา อาชญาวิทยา รวมทั้งวิชาที่สอนในโรงเรียน ได้แก่ วรรณคดี ดนตรี ศิลปะ ฟิสิกส์ เคมี สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (ศักดา ปรางค์ประทานพร, 2526, หน้า 124) การสอนวิชาต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เด็กเห็น ถึงความสัมพันธ์ของวิชาดังกล่าวและจะทำให้สามารถเข้าใจสภาพของสังคมมากขึ้น
2. โรงเรียน ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยมเชื่อว่าบทบาทของโรงเรียนจะต้องสนใจใฝ่หาอนาคต และนำทางให้เด็กได้พบกับระเบียบของสังคมใหม่โดยการให้การศึกษาฝึกในด้านความคิดสร้างสรรค์แก่เด็กเพื่อให้เด็กพร้อมที่จะร่วมมือในการวางแผนให้กับสังคมใหม่โรงเรียนมีหน้าที่สร้างบรรยากาศแบบสังคมประชาธิปไตยให้แก่เด็ก และในเวลาเดียวกันโรงเรียนจะต้องทำงานร่วมกับสมาชิกอื่นๆ ของสังคมด้วย นั้นก็คือโรงเรียนจะต้องเป็นผู้สร้างสังคมไม่ใช่เป็นผู้ที่ถูกสังคมสร้างขึ้นมา (ศักดา ปรางค์ประทานพร, 2526, หน้า 124-127) หากต้องการให้สังคมในอนาคตเป็นเช่นไร โรงเรียนก็สามารถจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อฝึกอบรมเด็กให้มีบุคลิกภาพทัศนคติ และความรู้ความสามารถเป็นอย่างนั้น
3. ผู้สอน ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม เชื่อว่าครูผู้สอนต้องสามารถทำให้เด็กเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างสรรค์สังคมใหม่ โดยอาศัยกระบวนการแบบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในโรงเรียน มีการนำหลักการสำคัญแบบประชาธิปไตยมาใช้
(ศุภร ศรีแสน, 2526, หน้า 193) ครูผู้สอนไม่ใช่มีหน้าที่คอยชี้แนะเพียงอย่างเดียว แต่ครูผู้สอนจะต้องเป็นผู้คอยกระตุ้นเร่งเร้าให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการคิดวิเคราะห์เพื่อหาทางแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบกพร่องต่าง ๆ ของสังคม (ไพฑูรย์ สินลารัตน์, 2524, หน้า 91-92) นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ครูผู้สอนจะต้องเป็นผู้ที่มีความเสียสละอุทิศตนเพื่อสังคม มีลักษณะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นกว่าเดิม
4. ผู้เรียน นักเรียนได้รับการปลูกฝังให้ตระหนักในคุณค่าของสังคม เรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกัน เพื่อเป้าหมายในการแก้ปัญหาของสังคมในอนาคต ผู้เรียนจะได้รับการฝึกฝนให้รู้จักเทคนิคและวิธีการต่างๆที่จะทำความเข้าใจ และแก้ปัญหาในแนวทางประชาธิปไตย (ไพฑูรย์ สินลารัตน์, 2526, หน้า 92) ซึ่งนักเรียนควรจะได้เรียนรู้และรับทราบถึงข้อมูลต่างๆอย่างละเอียด และเปิดเผยตรงไปตรงมา ไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ว่าเด็กจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม และควรจะได้หาข้อสรุปอันเป็นทางเลือกที่เหมาะสมและยุติธรรม (บรรจง จันทรสา, 2522, หน้า 250)
5. กระบวนการเรียนการสอน การเรียนการสอนตามแนวปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยมมีลักษณะคล้ายคลึงกับปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม คือ เป็นการเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำด้วยตนเองโดยใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (scientific method) วิธีการแบบโครงการ (project method) และวิธีการแก้ปัญหา (problem solving method) นอกจากนั้นปรัชญานี้ยังอาศัยวิธีการทางประวัติศาสตร์ (historical method) และวิธีการทางปรัชญา (philosophical method) เข้ามาประกอบด้วย เพื่อให้การศึกษาปัญหาต่างๆ รัดกุมและสมบูรณ์ที่สุด ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยมไม่ส่งเสริมการเรียนแบบท่องจำและการสอนแบบบรรยาย ครูผู้สอนและเด็กควรทำอะไรก็ได้เพื่อสนองความต้องการของตน การแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง สนใจปัญหาของสังคมเสนอแนะ วิธีการแก้ปัญหา บรรยากาศในการเรียนการสอนมีอิสระไม่ใช่ บังคับ การจัดตารางสอนควรมีความยืดหยุ่น กำหนดตามเวลาเรียนในทฤษฎีการค้นคว้าของเด็กและการอภิปรายเป็นสัดส่วนกัน โดยเน้นการอภิปรายเป็นหลัก (ทองปลิว ชมชื่น, 2529, หน้า 168)
6. การวัดและประเมินผล ปรัชญาการศึกษาลัทธินี้เชื่อว่ามนุษย์มีความสามารถที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมของตนเองดีขึ้น มนุษย์มีความสามารถที่จะสร้างจุดมุ่งหมายให้กับชีวิตอย่างชาญฉลาด มนุษย์เป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเอง และคุณค่าสูงสุดของมนุษย์คือการใช้พลังแห่งการสร้างสรรค์มากที่สุด ดังนั้นจึงมีการวัดผลการเรียนด้านวิชาการ ด้านการพัฒนาการของผู้เรียน และทัศนคติเกี่ยวกับสังคมด้วย ตลอดจนด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยครูเป็นผู้วัดและประเมินผลผู้เรียน (ศักดา ปรางค์ประทานพร, 2526, หน้า 119)

สรุปปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม (recontructionism)
ปรัชญากลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นโดยเน้นการพัฒนาการของบุคคลและของมวลชนเพื่อเข้าใจตนเอง ว่ามีความต้องการอะไรเน้นการปฏิรูปสังคมและสร้างสรรค์รูปแบบของสังคมขึ้นมาใหม่ในอนาคต
หลักการสำคัญของปรัชญากลุ่มนี้คือ มุ่งเน้นเรื่องสังคมและปัญหาเศรษฐกิจ โรงเรียนจะต้องมีบทบาทในการที่จะช่วยปัญหาสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ให้พัฒนากลายเป็นสังคมใหม่ที่ต้องการ ส่งเสริมให้โรงเรียนมีบทบาทในการสนับสนุนให้ผู้เรียนรู้จักปฏิรูปสังคมแนวคิดตามปรัชญาการศึกษานี้ได้แก่ โรงเรียนชุมชน (Community School)
ลักษณะของหลักสูตรนี้เน้นยึดอนาคตเป็นศูนย์กลาง คือจัดเนื้อหาวิชาและแผนการเรียนการสอนให้เอื้อต่อการแสวงหาเป้าหมายสำหรับอนาคต เน้นสังคมเป็นหลัก ผู้เรียนต้องเข้าใจสภาพของสังคมอย่างดีพอ มองเห็นปัญหาต่างๆ ในสังคม และหาแนวทางแก้ไข
ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยมยึดหลักสูตรแบบแกน ( core curriculum or wheel curriculum) คือ การสอนเน้นวิชาใดวิชาหนึ่งหรือกลุ่มวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นแกนกลาง เนื้อหาในหลักสูตรนี้มาจากปัญหาสังคมที่ผู้เรียนประสบอยู่ หลักสูตรต้องกำหนดให้เด็กได้ศึกษาอย่างกว้าง เพื่อให้เด็กมองเห็นปัญหาสังคมอย่างเข้าใจแจ่มชัด